ทำความเข้าใจในการยืนทำความเคารพ เพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง

เหตุใดจึงต้องเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้งพร้อมฉายพระบรมฉายาลักษณ์กับพระราชกรณียกิจก่อนฉายภาพยนตร์ คนไทยในโรงภาพยนตร์จะคุ้นเคยและยืนตรงทุกครั้งเมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นการแสดงแสดงถึงความจงรักภักดีและความเคารพต่อพระเจ้าแผ่นดิน แต่น้อยคนนักจะทราบที่มาที่ไป ว่ามีต้นกำเนิดอย่างไรลองมารู้จักกัน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเพลงสรรเสริญฯ ในโรงหนัง

  1. พิธีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทศวรรษที่ 1910 ในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ในเพลง God save the King หลังจากฉายภาพยนตร์เสร็จเพื่อสร้างอุดมการณ์คนประเทศให้รักพระเจ้า กษัตริย์ หลังสงครามสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1950-1960 ช่วงต้นของรัชสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 โรงภาพยนตร์ได้นำเพลงมาฉายก่อนเปิดภาพยนตร์ในเพลง God Save The Queen ก่อนจะเลิกฉายในช่วงทศวรรษที่ 1970
  2. เพลงสรรเสริญพระบารมีแต่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิมทีสยามใช้เพลงประโคมแตรในการถวายเกียรติพระเจ้าแผ่นดินแต่ในรัชกาลที่ 5 เป็นยุคการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกจึงได้เปลี่ยนใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีโดยนำเพลง God Save the Queen ของประเทศอังกฤษมาใช้ แล้วประพันธ์คำร้องไทยโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร ในชื่อเพลงว่า ‘จอมราชจงเจริญ’ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ประพาสสิงคโปร์  (อาณานิคมของอังกฤษในเวลานั้น) เมืองปัตตาเวีย (อาณานิคมของฮอลันดาในเวลานั้น) ทหารอังกฤษก็เล่นเพลง God Save the Queen รับเสด็จ แต่ทหารฮอลันดาสงสัยเหตุใดชาวสยามใช้เพลงเดียวกับอังกฤษทั้งๆ ที่มิได้ตกเป็นอาณานิคม พระองค์จึงทรงตกพระทัย รับสั่งให้ยกเลิกใช้เพลงของอังกฤษและมีพระราชดำริให้ประพันธ์เพลงรับเสด็จขึ้นมาใหม่ในปี 2416
  3. เพลงสรรเสริญพระบารมีได้รับการดัดแปลงหลายรูปแบบ ต้นกำเนิดมาจากเนื้อร้องต้นฉบับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์โดยแต่งขึ้นจากบทละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง สังข์ทอง ที่ใช้คำศัพท์สูงเข้าใจยาก ประดิษฐ์มาจากคำบาลีและสันสกฤต โดยบรรเลงครั้งแรกใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 กลับจากการประพาสยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2440 หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2441 กระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน ได้แก้ไขคำร้องและประกาศให้นักเรียนชายหญิงทั่วราชอาณาจักรทำการขับร้อง สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงแก้คำร้องในท่อนสุดท้าย จาก ‘ดุจถวายชัย ฉะนี้’ เป็น ‘ดุจถวายชัย ชโย’ และประกาศใช้เป็นเพลงประจำชาติ
  4. ภายหลังประกาศใช้เฉพาะถวายความเคารพพระเจ้าแผ่นดิน และมีการออกพระราชกิจจานุเบกษาเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีเข้าสู่โรงภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 2478 เมื่อเข้าสู่ระบอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ประกาศใช้เพลงประจำชาติเพลงใหม่ และใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเฉพาะถวายความเคารพพระเจ้าแผ่นดินพร้อมเปิดในโรงมหรสพทุกครั้งด้วยถือว่าเพราะประเทศสงบสุขร่มเย็นจากพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าแผ่นดิน